วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การลงทุนเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋


การลงทุนเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้ปาท่องโก๋


 
       เเถวบ้านผมขายน้ำเต้าหู ถุงละ 4 บาทครับ ปาท่องโก๋ตัวละ 2 บาท กาเเฟเเก้วละ 10 บาทครับ เเต่ถ้ากินที่ร้าน เนี่ย เเบบทรงเครื่องเเบบใส่ทุกอย่างถ้วยละ 10 บาทครับ เเต่ถ้าใส่อย่างเดียว 6 บาทครับ เคยคุยกับเจ้าของร้านนะครับว่า ได้กำไรถุงละเท่าไหร่ พี่เเกบอกว่าได้กำไร ถุงละ 2 บาทครับ ส่วนปาท่องโก๋ได้ตัวละ 1 บาทครับ ถ้าขายเยอะๆครับ พี่เเกบอกว่าขายได้วันนึง 800-1000 ถุงครับ ขายหมดทุกวันครับ ดังนั้นกำไรวันนึงตก 2500-3000 บาทครับ กำไรดีนะครับ เเต่ขายเยอะขนาดนี้ต้องมีลูกจ้าง 3 คนครับ หักนู้นหักนี้ไปน่าจะเหลือมาถึงเรา 1500-2000 บาทเยอะมากๆครับ เเต่หลายคนไม่ได้คิดถึงครับ
 

        วิชาความรู้อย่างนี้ เมื่อรู้แล้วก็จะติดตัวไป ไม่มีใครมาแย่งเอาไปได้ อีกทั้งนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้อีกด้วย” คุณอนันธนา ชาญเลขา วัย 39 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยอยู่ในภาวะ “ตกงาน” ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ แต่ด้วยความขวนขวาย ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เธอได้มารู้จักกับนิตยสารเส้นทางเศรษฐี และศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน
 

     ทุกวันนี้ เธอเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ และข้าวราดแกง อยู่ที่ ซอยจันทร์ทองเอี่ยม ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี มีรายได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มว่าจะขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เธอหันรีหันขวางอยู่พักใหญ่ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี “เส้นทางเศรษฐี” ได้เข้าไปพูดคุยกับเธอถึงเรื่องราวการทำมาหากิน และการเดินเข้าสู่เจ้าของร้านเล็กๆ แต่มีอนาคตแห่งนี้ของคุณอนันธนา เธอเล่าว่า เดิมพื้นเพเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี อยู่แถวๆ เขื่อนศรีนครินทร์ เคยทำอาชีพมาประเภท อย่างเมื่อปี 2543 เปิดร้านเสริมสวย เปิดได้ 5 ปี ลูกสาวต้องย้ายมาเรียนที่ตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี จึงต้องปิดร้านเสริมสวยไป หลังจากย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้ว ก็มาเริ่มต้นขายลูกชิ้นปิ้งตามตลาดนัด
 
 

        ”ในช่วงปี 2551 เศรษฐกิจแย่มาก แฟนทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ไปทำงานเช้าวันจันทร์ กลับเย็นวันศุกร์ เสียค่ารถเยอะในแต่ละสัปดาห์ ก็ปรึกษากันว่า น่าจะย้ายครอบครัวเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จะช่วยประหยัดค่ารถได้ จึงพากันย้ายมา และให้ลูกย้ายโรงเรียนมาเรียนที่กรุงเทพฯ ซะเลย” หลังจากย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว คุณอนันธนาก็ยังไม่มีอาชีพพอที่จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับครอบครัวได้ มีบ้างที่เพื่อนบ้านมาชวนเย็บเสื้อโหล ซึ่งมีรายได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง ระหว่างนี้ เธอฉุกคิดได้ว่า เคยอ่านนิตยสารเส้นทางเศรษฐี และนิตยสารฉบับเดียวกันนี้ ที่มีโปรแกรมการอบรมอาชีพอยู่เสมอๆ ไม่รอช้า เธอตรงดิ่งไปยังแผงหนังสือ ถามหา “เส้นทางเศรษฐี” ทันที ได้หนังสือมาแล้ว เธอมานั่งอ่านด้วยความสนใจ และพบกับเรื่องราวการอบรมอาชีพในที่สุด เธอมีคำตอบอยู่ในใจเบื้องต้นแล้วว่า การขายปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ ช่วงเช้า น่าจะดีกว่าการทำอย่างอื่น เนื่องจากทำเลในย่านบ้านพักที่อาศัยอยู่นั้น มีซอยที่เข้าไปสู่โรงเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งมีนักเรียน และผู้ปกครองผ่านไปมามากในแต่ละวัน เธอเริ่มปรึกษากับสามีว่า ถ้ามีใครจะมาบอกสูตรการทำปาท่องโก๋ให้ แต่คิดเงินสักประมาณ 1,500 บาท สามีจะยอมลงทุนมั้ย ทางฝ่ายสามีตอบกลับมาทันทีว่า “อย่าว่าแต่ 1,500 บาท 3,000-4,000 บาท ก็ยอม เพราะวิชาความรู้อย่างนี้ เมื่อรู้แล้วก็จะติดตัวไป ไม่มีใครมาแย่งเอาไปได้ อีกทั้งนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ ให้อีกด้วย” นับว่าเป็นความคิดที่ทันสมัยและมีเหตุผลมากทีเดียว
คุณอนันทธนาตัดสินใจสมัครเข้ามาเรียนการทำปาท่องโก๋ กับศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน หลักสูตรวันเดียว หลังจากทำได้ ทำเป็นแล้ว เธอไปปรึกษาสามีอีกครั้งว่า จะซื้อรถพ่วงข้าง แต่สามีบอกว่า “ช้าก่อนน้องรัก เธอลองทำให้พี่กินดูซักหน่อยก่อนเถิด” ว่าแล้ว เธอก็นวดแป้ง ทอดปาท่องโก๋ ตามสูตรที่ร่ำเรียนมาทันที “พอแฟนบอกว่า ลองทำให้กินก่อน เลยไปซื้อวัตถุดิบมา 600 กว่าบาท เค้าไม่มีแบ่งขายไงคะ ซื้อแป้งมา 2 ก.ก. ยีสต์ 1 ก.ก. ซื้อจากร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่” สามีชิมแล้ว ไม่พูดอะไรต่อสักคำ แต่กลับพาไปต่อรถพ่วงทันที นั่นแสดงว่า รสชาติออกมาเป็นที่ถูกใจ “พอได้ทำเลขาย ไม่ไกลจากบ้าน เป็นร้านริมถนนในซอยที่จะไปทะลุสู่ถนน
 
 
 
         บางบัวทองได้ และเป็นทางผ่านไปโรงเรียนจันทร์ทองเอี่ยม ซึ่งนับว่าเป็นทำเลที่ดี ร้านนี้เป็นร้านของน้องที่เค้าขายน้ำ เครื่องดื่มแล้วชวนให้เรามาขายเป็นเพื่อนกัน ไม่ได้เสียค่าเช่า แต่ช่วยค่าน้ำค่าไฟทุกวัน” คุณอนันธนา เล่าให้ฟัง สัปดาห์แรกที่ขายปาท่องโก๋ เธอว่า ต้องนำไปแจกเด็กๆ ที่โรงเรียนกินทุกวัน เนื่องจากยังไม่มีลูกค้า ขายได้น้อยมาก เหลือเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลก็คือ ลูกค้ายังไม่คุ้น ยังไม่กล้าเข้ามาซื้อ จนผ่านไปถึงสัปดาห์ที่สอง ย่างเข้าสัปดาห์ที่สาม ลูกค้าเริ่มมีมากขึ้น ทีนี้มากันมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเธอคิดว่า น่าจะมีน้ำเต้าหู้เข้ามาเสริมอีกตัวหนึ่ง เธอจำได้ว่า เคยมีเอกสารการทำน้ำเต้าหู้ สมัยที่เธออยู่กลุ่มแม่บ้านเขื่อนศรีนครินทร์ บ้านเกิดที่ จังหวัดกาญจนบุรี เธอนำเอกสารนั้นมา แล้วทำตาม “คิดว่าตัวเองมีเอกสารแล้วไง ก็เลยมาทำเอง ปรากฏว่าทิ้งไปเป็น 10 กิโลกรัมเลย บางทีหม้อแรกได้ มาต้มหม้อสอง บูด หรือไม่ก็หม้อไหม้ ใช้ไม่ได้ จนแฟนโมโห แฟนบอกว่า ที่มติชนมีสอนเมื่อไหร่ ไปเรียนมาเลย ที่ทำเองเพราะคิดว่าน่าจะทำได้ มีคนช่วยบอกสูตรด้วยว่าต้องกวนนะ กวนจนเดือด 2 ชั่วโมงแล้ว ยังไม่เดือดเลย จนแฟนนึกว่าไปนอนแล้ว เปล่าหรอก มันไม่เดือดสักที จนสุดท้ายมันบูด”
 
 
          คุณอนันธนาตัดสินใจมาเรียนการทำน้ำเต้าหู้ ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน หลังจากเรียนกลับมาแล้ว เธอมาทดลองทำให้สามีดู “เขาเห็นเรานั่งคั้นถั่วเหลือ 1 กิโลกรัม ลำบากมาก กว่าจะได้ ก็ถามว่า มีอะไรที่มันทุ่นแรงมั้ย ตอบไปว่ามี แต่มันแพง เป็นเครื่องแยกน้ำ แยกกาก เครื่องเล็ก 6,000 บาท แฟนให้เงินมาเลย ไปที่ร้านมีแต่เครื่องใหญ่ 9,000 บาทก็ซื้อมา ทุกวันนี้ก็เลยฉลุย สบายเลย ไม่ต้องมานั่งกวนให้เสียเวลา คั้นเสร็จ ต้ม รอให้เดือด เปิดฝาทิ้งไว้อีกครึ่งชั่วโมง ก็โอเคเลย คือเราได้ข้อสรุปว่า ถ้าไม่ไปเรียน เราจะไม่ได้เห็นการทำ ไม่ได้เทคนิค และไม่ได้สูตร การไปเรียนทำให้เราทำได้ทันที” คุณอนันธนาเริ่มขายปาท่องโก๋ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และอีกไม่นานก็มีน้ำเต้าหู้ ตามมาอีกตัวหนึ่ง และคำนวณได้ว่า ใช้แป้งในการทำปาท่องโก๋ วันละ 8 กิโลกรัม และขายน้ำเต้าหู้ โดยคำนวณจากถั่วเหลืองที่ใช้วันละ 3 กิโลกรัม ซึ่งจะขายได้ประมาณ 1,500 บาท โดยทั้ง 2 ตัวมีต้นทุนประมาณ 500-600 บาท ดังนั้น หักแล้ว เหลือประมาณวันละ 1,000 บาท ที่ร้านของเธอขาย ปาท่องโก๋ ตัวละ 3 บาท 2 ตัว 5 บาท ส่วนน้ำเต้าหู้ขายถุงละ 5 บาท จากที่ขายในช่วงเริ่มต้น ไม่มีลูกค้า ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน ลูกค้าไม่แน่ใจว่าจะอร่อยหรือไม่ แพงหรือเปล่า แต่เมื่ออดทน ยอมขายไปโดยไม่มีลูกค้าประมาณ 2 สัปดาห์ เข้าสัปดาห์ที่ 3 ลูกค้าเริ่มเข้ามา และเมื่อเข้ามาแล้ว ชิมแล้ว รสชาติดี มีคุณภาพ สะอาด ทำให้มีลูกค้าเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งขาประจำ และขาจร ทั้งบอกกันปากต่อปาก และต่อไปเรื่อยๆ
 
       ทุกวันนี้เธอว่า ขายดีมาก จนกระทั่งไม่มีวันหยุด วันไหนหยุดขายจะถูกลูกค้าต่อว่า และถ้ามีลูกค้าเข้ามามุงมากๆ ลูกค้าก็จะบริการตัวเอง หยิบสินค้าเอง และส่งเงินให้ เรียกว่ามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ทำให้เธอทำงานสนุกมากขึ้น
คุณอนันธนา เล่าให้ฟังถึงชีวิตประจำวันในการเตรียมงานว่า ทุกๆ เที่ยงคืน เธอจะตื่นขึ้นมาแช่ถั่วเหลือง จากนั้นไปนอนต่อ เริ่มต้นงานอีกครั้งช่วงตีสาม ทั้งทำน้ำเต้าหู้ นวดแป้งปาท่องโก๋ และตีแป้ง โดยช่วยกัน 3 คนคือเธอ น้องชาย และน้องสะใภ้ สำหรับน้ำเต้าหู้ ยกมาต้มที่ร้าน ต้มไปขายไป ให้ลูกค้าเห็นกันจะจะ ว่า ต้มอย่างไร ใส่อะไร เนื่องจากมีลูกค้าบางคนพูดในลักษณะที่ว่า ร้านนี้ใส่นมสด หรือครีมเทียมแน่ๆ แต่เธอว่า ถ้าน้ำเต้าหู้ของเธอใส่ครีมเทียม หรือนมสด ต้นทุนจะเป็นเท่าไหร่ และจะสามารถขายถุงละ 5 บาทได้หรือไม่ แต่เพื่อความแน่ใจกัน และสร้างสีสันให้กับร้าน เธอเลยยกหม้อน้ำเต้าหู้มาต้มกันที่ร้านซะเลย
 
 

        จากการที่มองเห็นตลาด และกลุ่มลูกค้าว่าเป็นนักเรียน และผู้ปกครองที่มาส่งนักเรียนในช่วงเช้าของทุกวัน คุณอนันธนาจึงเพิ่มสินค้าขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง คือข้าวราดแกง และแม้ว่าจะมองว่าเป็นอาชีพพื้นๆ ที่ใครก็ทำได้ แต่เพื่อความแน่ใจ และเทคนิคบางประการ เธอจึงกลับมาเข้ารับการอบรมที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน อีกครั้งหนึ่ง “ก่อนที่จะเข้าไปเรียนการทำข้าวราดแกง ก็ไปเรียนหลักสูตรอื่นๆ มาอีก ทั้งซาลาเปาทับหลี แซนด์วิช ข้าวมันไก่ฮ่องเต้ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด แต่คิดว่า ข้าวราดแกงนี่เหมาะที่สุด อาจารย์ผู้สอนก็แนะนำทุกอย่าง ส่วนที่ทำขาย ทำวันละ 3 อย่าง อย่างเช่นวันนี้มี ไข่พะโล้ แกงป่าไก่ และแกงเผ็ดปลากราย พวกนี้ลงทุนตกหม้อละ 100 บาท รวมแล้ว 300 บาท แต่ขายได้ 600 กว่าบาท มาช่วยเสริมในร้านอีกทางหนึ่ง” สรุปแล้ว เธอมีรายได้ราว ๆ 2,000 บาทเศษๆ ต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่า ดีกว่ารับจ้างเย็บเสื้อโหล อีกทั้งเป็นงานที่ช่วงสายๆ ของวันก็เกือบจะเสร็จงานแล้ว คุณอนันธนา บอกอีกว่า กำลังหาเวลา และจังหวะโอกาส มาเข้ารับการอบรมอีกในวิชาการทำข้าวราดแกง ซึ่งคราวนี้จะเป็นหลักสูตรต่อยอดขึ้นไปอีก